ในบรรดาหนังที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจ ขอแยกออกเป็น 2 ประเภทง่ายๆ ประเภทแรกคือ “หนังดี” ที่ว่าด้วยองค์ประกอบที่เพียบพร้อม ภาพที่สื่อสารสมบูรณ์ บทน่าสนใจ การแสดงชั้นเลิศ และตกตะกอนผู้ชมให้ครุ่นคิดถึงประเด็นบางอย่าง และอีกประเภทหนึ่งคือ “หนังบันเทิง” ที่ว่ากันตามชื่อนั่นแหละครับ มุ่งเน้นที่การมอบความสนุก บันเทิงเริงรมย์ ตอบสนองความต้องการบางสิ่ง แต่มักจะไม่สมบูรณ์แบบในตัวเองสักเท่าไหร่ ซึ่งบางครั้ง 2 ประเภทดังกล่าวก็คาบเกี่ยวกันได้ แต่สำหรับ Fast & Furious 7 เรื่องนี้ ยืนฝั่งหนังดีที่ราวๆ 10 % และเทไปทางบันเทิง 90 % แบบตาชั่งเอียงกะเทเร่
หากนับกันตามลำดับเวลาของโลกในหนังจริงๆ ก็ต้องเรียงภาคแบบ 1 2 4 5 6 3 และ Fast & Furious 7 ภาคนี้ ที่ว่าด้วยครอบครัวขาซิ่งที่นำโดยพี่โล้น ดอม (วิน ดีเซล )และ ไบรอัน (พอล วอล์คเกอร์) ที่กลับไปใช้ชีวิตดีๆ ไร้คดีร่วมกัน หลังจากจัดการ โอเวน ชอว์ ไปในภาคที่แล้ว แต่ในอีกฝั่งหนึ่ง ฮาน ก็ต้องจบชีวิตลงที่โตเกียว (ซึ่งโยงกับภาค 3) ด้วยฝีมือของ เด็คการ์ด ชอว์ (เจสัน สเตแธม) พี่ชายขาโหดของ โอเวน ที่ตามมาแก้แค้นครอบครัวซิ่งถึงที่ ด้วยการทักทายด้วยระเบิดจนโฮมสวีทโฮมของดอมกระจุยเละ และจะไม่หยุดจนกว่าจะเด็ดหัวให้ครบแก๊ง
นั่นคือพล็อตเรื่องหลักๆ ของ Fast & Furious 7 ที่นับวันแฟรนไชส์ที่เริ่มต้นด้วยรถแรง สาวทรงโต คันเร่ง และไนตรัส ถูกผลักดันให้กลายเป็นหนังแอ็คชั่นฟอร์มยักษ์มากขึ้นทุกขณะ จนหลายๆคนลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่า มันมีจุดกำเนิดที่การแข่งรถนะเหวย…ซึ่งกับภาค 7 นี้ก็ยิ่งจัดหนักเข้าไปอีก เท่าที่จินตนาการจะนำพาไปถึง ด้วยการสร้างสถานการณ์โคตรระห่ำแบบสุดจะเหนือโลก โดยมีรถเป็นศูนย์กลางแบบที่คนขับรถเป็นหรือเคยเล่นเกมแข่งรถ อยากจะทำได้ในชีวิตจริงสักครั้ง (แต่ไม่กล้าทำหรอก เพราะกลัวคันเร่งจะส่งตรงลงนรกเสียก่อน) โอเคครับ ถึงแม้บางครั้ง ฉากรถแรงทะลุนรกเหล่านี้ จะโอเวอร์จนถือสาหาความจริงไม่ได้ แบบที่ท่านเซอร์ไอแซค นิวตัน มาเห็น ก็เป็นอันต้องกุมขมับ พร้อมร้อง “วอทดะฟัค” แต่มันมอบความบันเทิงสนองความต้องการแบบสุดๆ ด้วยฉากแอ็คชั่นที่ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ แต่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกอะดรีนาลีนคนดู ซึ่งนั่นถือว่าประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ดี ฉากแอ็คชั่นมิดคันเร่ง ท้าทายทฤษฎีฟิสิกส์เหล่านี้ กลับพุ่งระดับความดุดันและใหญ่โตขึ้นสูงสุดตั้งแต่กลางๆเรื่อง ดังนั้นความตูมตามที่เหลือต่อจากนั้น มันจึงกร่อยๆไปบ้างตามอัตภาพ แต่นอกจากการโยนระเบิดลูกแล้วลูกเล่าใส่ผู้ชมอย่างต่อเนื่องแล้ว Fast & Furious 7 ยังเอนเอียงไปทางหนังสายลับตระกูลอุปกรณ์ไฮเทคล้ำยุค และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพทะลุทะลวงโลก ซึ่งนั่นก็ยิ่งแหกโครงเรื่องแค้นฝังหุ่นระหว่างครอบครัว แถมยังนำพาความรกรุงรังมาให้อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเมื่อรวมกับอาการวิญญาณยังตามติดของ เจสัน สเตแธม แล้ว ทำให้รู้สึกว่าผู้กำกับ เจมส์ วาน น่าจะสนุกสนานกับของเล่นใหม่ที่เรียกว่า “หนังแอ็คชั่น” หนักมือไปสักนิด อันนี้ก็ดี อันโน้นก็โดน เลยไม่รู้จะทำยังไงดี งั้นก็ต้มรวมหม้อเดียวไปเลยละกัน แล้วเป็นไงล่ะครับ หม้อที่เดือดปุดๆ อยู่แล้วมันก็ล้น แถมไม่ค่อยอร่อยอีกซะงั้น
อลัน ทัวริ่ง นักถอดรหัสแห่ง The Imitation Game เคยกล่าวเอาไว้ว่า “รู้ไหม ทำไมมนุษย์ชอบความรุนแรง เพราะมันทำให้รู้สึกดีน่ะสิ มนุษย์ลึกๆล้วนเสาะหาความรุนแรงกันทั้งนั้น แต่เมื่อตัดความสะใจออก มันก็แค่เป็นการกระทำที่กลวงๆ” พิลึกดีเหมือนกัน ที่ประโยคเด็ดในหนังดราม่าเรื่องนั้น ดูจะเข้าเค้าเสียจริงกับแอ็คชั่นโครมครามแห่ง Fast & Furious 7 เราคงไม่ปฏิเสธว่ามันมอบความบันเทิงสไตล์แมนๆ เหยียบคันเร่งกัน ได้เต็มเหนี่ยว แต่หากมองลึกลงไปอีกสักนิดก็จะพบบทเดิมๆ โครงเรื่อง ปัญหาอุปสรรค การคลายปม และบทสรุปที่เรียบๆ ตรงแด่วเป็นไม้บรรทัด ไม่ได้ชาญฉลาดนัก จนน่าเสียดายอุปกรณ์ล้ำโลกที่ถูกใส่เข้ามา และตัวละครเรียบๆง่ายๆ ถูกวางคาแร็คเตอร์ชัดเป๊ะและเล่นไปตามนั้น แบบไม่ต้องตีความอะไรให้หนักสมอง
แต่นอกจากหม้อเดือดล้นใบเมื่อกี้ อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้พอตัวสำหรับผู้เขียน คือการที่ เจมส์ วาน ผู้มีชื่อเสียงในทางดำมืด เงียบงัน และสยองน่าฉี่รดเก้าอี้ กลับสร้างอารมณ์ขันให้ Fast & Furious 7 ได้อย่างลงตัว (พี่มีมุมหลุดๆ รั่วๆ อย่างนี้ด้วยเหรอ?! ถ้าเป็น แมทธิว วอห์น จะไม่ว่าอะไรสักคำ) นำมาโดยท่านแม่ทัพผิวหมึก โรมัน และแฮคเกอร์มาดไม่ให้ เท็ด ที่ถูกวางคาแร็คเตอร์ให้แขวะกัดกันทุกโอกาสที่ทำได้ และนั่นก็เรียกเสียงฮาได้ดีเสียด้วย แต่ที่ประหลาดใจยิ่งกว่าคือการได้เห็นต้นตำรับความดุดันอย่าง ไบรอัน และ ดอม ในมุมกวนบาทา กลอกตายียวนใส่กัน จนทำให้รักตัวละครทั้งคู่มากขึ้นจริงๆ สิน่า
.
นี่คิอบทส่งท้ายของ พอล ที่จะทำให้เรารู้ว่า
เขาจะยังขับรถต่อไป ถึงระยะทางจะไกลห่างออกไปจนลับตาแค่ไหน
เราก็จะยังได้ยินเสียงเครื่องกระหึ่ม อย่างที่เราเคยหลงรักอยู่อย่างนั้น
.
ครับ…ทั้งหมดทั้งมวลนั้น คือสาเหตุที่หนังภาค 7 นี้ เอนเอียงตาชั่งมาทางมอบความบันเทิง ไม่ถือเอาสาระ แต่สิ่งน้อยนิดที่จุดชนวนความเป็นหนังดีนั้น มีต้นกำเนิดจากเหตุการณ์ที่นักแสดงนำอย่าง พอล วอล์คเกอร์ จากโลกนี้ไประหว่างถ่ายทำ ทำให้ต้องมีการปรับบทกันหลายตลบ ไปจนถึงการให้น้องชายของ พอล มาแสดงส่วนที่เหลือร่วมกับเทคนิคซีจี ซึ่งแง่นั้นนับว่ายอดเยี่ยม เพราะถ้าไม่เอาแว่นขยายไปส่องหน้าจอ เราก็แยกไม่ออกว่าฉากไหนจริงฉากไหนปลอม และนั่นทำให้เรื่องราวความรักของ ไบรอัน และ มีอา ที่หวังจะสร้างครอบครัวสงบสุข ขับรถบ้านบนท้องถนน หยุดทุกไฟแดง เหมือนกับมนุษย์ธรรมดาสามัญเสียบ้าง ถูกเน้นย้ำเคียงคู่กันมากับคำว่า “ครอบครัว” ของ ดอม อันหมายถึงเพื่อนๆแก๊งซิ่งทุกคนที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาด้วยกันอยู่ตลอดเรื่อง ก่อนจะมอบช่วงเวลาที่ดีที่สุด กับฉากสุดท้ายสั่งลา ที่ดูแล้วอาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนื้อเรื่องโครมครามเกือบ 2 ชม. ที่ผ่านมาโดยตรงนัก แต่ช่วงสั้นๆก่อนเอ็นเครดิตนี่แหละครับ ที่ประสานประเด็นครองครัวทั้งเรื่อง และส่องประกายความเป็นหนังดี ได้ชัดแจ้งที่สุด ทั้งในมุมของตัวละครเอง และมุมของผู้ชมอย่างเราๆ ที่มีต่อ พอล วอล์คเกอร์ ด้วย
ดอม โทเร็ตโต้ พร้อมบีบคอหอย ขับรถชนให้ม้ามแตกทุกคนที่เข้ามาทำร้ายคนในครอบครัวของเขา และทำให้เราๆ ต่างรู้ว่า ครอบครัวนี้หนักแน่นเป็นปึกแผ่น สำหรับแฟรนไชส์นี้มากมายขนาดไหน แต่ถึงกระนั้น แม้ ดอม จะประกาศกร้าวว่าครอบครัวข้าใครอย่าแตะ แต่สำหรับสมาชิกที่จากไปอย่าง พอล แล้ว เขาคงเปิดประตูรถยอมให้ผู้ชมทุกคน เข้าไปนั่งข้างๆ เสมอ แม้ Fast & Furious 7 จะไม่สมบูรณ์ตามสิ่งที่ภาพยนตร์น้ำดีควรจะเป็น แต่หนังเรื่องนี้คิอบทส่งท้ายของ พอล ที่จะทำให้เรารู้ว่า เขาจะยังขับรถต่อไป ถึงระยะทางจะไกลห่างออกไปจนลับตาแค่ไหน เราก็จะยังได้ยินเสียงเครื่องกระหึ่ม อย่างที่เราเคยหลงรักอยู่อย่างนั้น
เรื่องนี้ให้ 8.5 / 10 ครับ
Lecter.
ป.ล. สำหรับคุณผู้อ่านที่สงสัยว่าเฮีย จา พนม ออกมามากแค่ไหน เราบอกตรงนี้เลยครับว่าถัวเฉลี่ยแล้วประมาณ 2 ฉากครึ่งได้ ประจำการตำแหน่งหัวหน้าลิ่วล้อกีกี้ทั้งหลาย ในแบบที่โชว์พลังแอ็คชั่นลีลาได้ใจติ่ง แต่ฝั่งแอ็คติ้งก็แข็งพอๆ กับหมัดพี่เขานั่นแหละครับ
——————————–
The post Fast & Furious 7 : ครอบครัวข้าใครอย่าแตะ appeared first on Mthai Movie.