ไม่ว่าจะด้วยเหตุบังเอิญหรือความตั้งใจทางการตลาด ด้วยความที่เริ่มเอียนเต็มทน กับหนังตระกูลชีวประวัติบุคคลสำคัญของโลก หรือคนพิเศษของประชาชน ที่ทิ้งเชื้อมาตั้งแต่ฤดูกาลออสการ์ การได้พักเบรกชม Ode to My Father ที่เล่าเรื่องชีวิตของชายที่สุดแสนจะธรรมดาคนหนึ่ง เลยเป็นยารักษาโรคเลี่ยนชั้นดี และพบว่าคนธรรมดาของโลกคนนี้ กลับกลายเป็นคนพิเศษสำหรับผู้ชมอย่างเราด้วยคนหนึ่งได้อย่างน่าอัศจรรย์
Ode to My Father ถ่ายทอดเรื่องราวของ ด็อกซู วัยชราในมาดคุณปู่ขี้โมโห ก่อนจะพาย้อนอดีต ไปดูชีวิตตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย ที่ต้องอพยพลี้ภัยสงครามจากเกาหลีเหนือพร้อมครอบครัว แต่ก็ต้องพลัดหลงกับพ่อและน้องสาวไป สู่การตั้งถื่นฐานใหม่ในเกาหลีใต้ ในฐานะพี่คนโต ด็อกซู จึงต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว ออกทำงานหาเงินอย่างยากลำบาก ตั้งแต่การใช้แรงงาน จนนำไปสู่การเป็นคนงานเหมืองในต่างแดน ก่อนจะได้พบรักกับ ยองจา และอัพเกรดตัวเองกลายเป็น “พ่อ” แล้วกลับสู่เกาหลี แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคนานัปการ ที่ค่อยๆ ถาโถมเข้ามา ให้ต้องก้าวข้ามไม่หยุดหย่อน
ด้วยความอ่อนประสบการณ์ทั้งด้านหนังและซีรีส์แดนกิมจิ ทำให้แทบไม่รู้จักหน้าค่าตานักแสดงเลยสักคน (ขออภัยอย่างแรง) แต่ก็นั่นล่ะครับ การไม่รู้อะไรเลยทำให้มองพวกเขาและเธอ เป็นตัวละครนั้นจริงๆ ได้ดียิ่งขึ้นไปโดยปริยาย และนับเป็นความท้าทาย กับการที่หนังเล่าเรื่องโดยกินเวลาทั้งร่วม 60 ปี ให้จบใน 2 ชั่วโมงเศษๆ เราจะได้เห็นภาพความโหดร้ายของสงครามเกาหลี ชีวิตเสี่ยงอันตรายในเหมืองเยอรมัน ความตายแค่เอื้อมในสงครามเวียดนาม และระบอบทุนนิยมที่คอยกัดกร่อนผู้่ที่ไม่เห็นด้วยให้สึกหรอ
ซึ่งเมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกมองผ่านชายชาวบ้านฐานะปานกลางอย่าง ด็อกซู มิใช่นายพลแห่งกองทัพ มิใช่นักธุรกิจข้ามชาติ ภาระการตัดสินใจของเขา จึงไม่ยึดเรื่องราวใหญ่โตเป็นที่ตั้ง แต่เพียงถือมั่นให้คนที่รักต้องอยู่สบาย เรื่องเล็กๆ ท่ามกลางบรรยากาศใหญ่โตนี้ คือเสน่ห์สำคัญที่ไม่ต้องปรุงแต่งปมดราม่า ทำให้อดหลงรักมันไม่ได้เสียจริงๆ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ช่วงเวลาของหนังคาบเกี่ยวกับภาวะสงครามถึงสองครั้งสองครา แต่เลือกที่จะถอยห่างจากแนวหน้ากลางดงกระสุน มามุ่งเน้นที่สภาวะความสูญเสียที่ตามมาแทน ซึ่ง Ode to My Father ส่งเสียงร่ำไห้เศร้าโศกอยู่เป็นระยะ แต่ถึงกระนั้นก็ถูกแทรกด้วยความมีอารมณ์ขันของตัวละครแวดล้อมอยู่เนืองๆ และลงตัวเกือบทุกจังหวะ ไม่มีสภาวะฝืนหรือพยายามตลกให้ได้เห็น ซึ่งมันทำให้หนังเรื่องนี้ ไม่ฟูมฟายชูป้ายเรียกร้องให้รัก และรู้สึกว่าพ่อนี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวงแบบกลวงๆ แต่เลือกค่อยๆ ซึมซับความเป็นไปของชีวิต ด็อกซู ที่คราคร่ำไปด้วยน้ำตาสลับกับรอยยิ้มแทน ซึ่งการได้เห็นชีวิตคนเป็นพ่อทุกห้วงเวลาแบบนี้ ยิ่งทำให้ตัวละครดูเป็นมนุษย์ กราฟชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงได้ แกว่งไกวขึ้นลงโดยยังมีกำลังใจหนุนอยู่เบาๆ และสมจริงยิ่งขึ้นไปอีก
.
การทำอะไรเพื่อคนที่เรารัก ถึงมันจะแสนเหนื่อยอุดมไปด้วยคราบน้ำตา
แต่พอหันมาเห็นรอยยิ้มของคนรอบกาย ก็ทำให้ยังไหวอยู่เสมอ
และคราบน้ำตา มันก็จะแห้งระเหยไปเอง
.
นอกจากการคั่นอารมณ์แบบถูกที่ถูกเวลาแล้ว Ode to My Father เลือกที่จะใช้วิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีก ด้วยการตัดสลับเวลาในวัยชรา กับภาวะที่ ด็อกซู ค่อยๆเติบโตจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ จากลูกชายตัวน้อยสู่ความเป็นพ่อ และคุณปู่คุณตา ตามลำดับ โดยเปิดปมบางอย่างให้ชวนสงสัยในมาดผู่แก่หง่อม ก่อนจะสลับไปคลายปมเฉลยคำตอบในการย้อนอดีต นัยหนึ่งนี่คือการไม่สร้างภาระอะไรเลยให้ผู้ชม รีบถามรีบตอบ ตัดตอนประเด็นจนเกินไปสักนิด แต่อีกนัยหนึ่งก็สร้างความเพลิดเพลินแบบไม่ต้องนั่งกุมขมับหาจุดเชื่อมโยงหรือตีความอะไรหนาหนัก
น่าดีใจที่ Ode to My Father หนังที่เคยแอบปรามาสไว้ว่าน่าจะออกมาแนวสั่งสอนศีลธรรม กลับพลิกหักมุมเสียจนเราหน้าแทบหัก มาเป็นเรื่องความผูกพันอบอุ่นที่ครบทุกรสชาติ และทางเราขอบอกไว้เลยว่า หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้ทำให้ทุกคนรักพ่อมากขึ้นหรอก แต่หนังทั้งเรื่องโดยเฉพาะฉากท้ายๆ ยิ่งเน้นย้ำให้เรารู้ว่า การทำอะไรสักอย่างเพื่อคนที่เรารัก ถึงมันจะเหนื่อยแสนเหนื่อยอุดมไปด้วยคราบน้ำตา แต่พอหันมาเห็นรอยยิ้มของคนรอบกาย ก็ทำให้ยังไหวอยู่เสมอ และเมื่อถึงเวลานั้น คราบน้ำตามันก็จะแห้งระเหยไปเอง
เรื่องนี้ให้ 9 / 10 ครับ
Lecter.
———————————-
The post Ode to My Father : เหนื่อยใจแต่ไหวอยู่ appeared first on Mthai Movie.