คงไม่ได้กล่าวเกินจริงนัก หากมองผลิตผลของสตูดิโอจิบลิ เป็นมากกว่าความบันเทิงอันจับต้องเนื้อหาสาระไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้มักจะสอดแทรกแนวคิด รวมถึงเสียดสีสังคมบางประเด็นอยู่เสมอ จะหนักจะเบาก็ตามแต่เรื่องไป และในโอกาสที่ When Marnie Was There เป็นผ้าใบผืนสุดท้าย ที่จิบลิได้สร้างสรรค์ภาพฝันขึ้นมา ก่อนจะพักงานอย่างไม่มีกำหนด การ์ตูนเรื่องนี้จึงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
When Marnie Was There ถ่ายทอดเรื่องราวของ อันนา เด็กหญิงชาวเมืองผู้เปลี่ยวเหงา เข้ากับเพื่อนไม่ได้ แถมยังเป็นโรคหอบหืด (โถ…) จึงต้องย้ายมาอยู่กับญาติที่จังหวัดเล็กๆ อากาศบริสุทธ์ ซึ่งทำให้เธอรู้จักกับ มาร์นี เด็กหญิงปริศนา ที่อาศัยอยู่ที่บ้านใหญ่ริมน้ำ จนความสัมพันธ์ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และนำไปสู่การค้นพบความจริงของชีวิตทั้งสอง (และเพื่ออรรธรสของผู้ชม เราจะไม่เปิดเผยสถานะของมาร์นี ในบทวิจารณ์นี้)
ผลงานเรื่องนี้ค่อยข้างแตกต่างจากแนวทางของจิบลิเรื่องก่อนๆ กล่าวคือ มันแฝงความลึกลับ ขมุกขมัวชวนหาคำตอบ และใช้ความคลุมเครือในการปกปิดตัวตนของเด็กหญิงปริศนา มาร์นี ที่หนังสามารถถ่ายทอดได้อย่างยอดเยี่ยมนับตั้งแต่เธอปรากฏตัวขึ้นบนจอเป็นครั้งแรก โดยการค่อยๆเผยข้อมูลทีละนิด ทั้งจากฝั่ง มาร์นี เอง และฝั่ง อันนา ที่เหมือนจะมีบางสิ่งเกี่ยวพันกับหญิงปริศนาคนนี้โดยตรง และผู้ชมสามารถค่อยๆ รวบรวมข้อมูล ประมวลผล คิดเป็นตุเป็นตะล่วงหน้าไปหลายตลบ ในภาวะจริงก็ไม่ใช่ ฝันก็ไม่เชิง ในท่วงทำนองคล้ายหนังสืบสวนและทริลเลอร์ชั้นดี เพียงแต่มันถูกเล่าอย่างท่าทีเบาๆ ละมุนละไม และเป็นมิตรกับเด็กมากกว่า
หมอกบางๆ ที่คลุมตัวตนของมาร์นีอยู่เกือบตลอดเรื่องนี้ ยังคลุมไปถึงระยะความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหญิงทั้งสองอีกด้วย หากมอง อันนา ในฐานะวัยเด็กก่อนฮอร์โมนว้าวุ่น ที่ชีวิตช่างแสนจะเดียวดาย มองไปทางไหนก็ไม่เห็นมีใคร การมีเพื่อนที่คุยถูกคอสักคน ย่อมเกิดความสนิทสนมอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความสัมพันธ์เจ้ากรรมที่เธอมีต่อมาร์นี ดูจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการตอบสนองจากฝั่งมาร์นีเอง ส่งผลให้หลายๆ ฉากชวนคิด ชวนจิ้น เตลิดเปิดเปิงไปไกลอยู่มิใช่เล่นๆ และทำให้เราเองก็ไม่แน่ใจนักว่า ตัวละครกำลังคิดอะไรอยู่กันแน่ จนอดจะหวาดเสียวไม่ได้ถึงตอนจบของหนังเรื่องนี้ ว่าจะเอนเอียงมาทางดาร์คไซด์หนักหน่วงรึเปล่า
แต่ก็อย่างว่าครับ นอกจากผู้ใหญ่อย่างเราๆ แล้ว จิบลิต้องการให้เด็กดูได้อย่างไม่มีพิษแสลงคอด้วย เพราะฉะนั้นความคลุมเครือทั้งหมด จึงนำไปสู่บทสรุปที่เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ต้องการตีความให้หนักสมองมากมายนัก และเน้นย้ำให้ทุกวัยเข้าใจตรงกันในเชิงบวกอย่างไม่ต้องสงสัย นัยหนึ่งเราอาจมองว่ามันง่ายไปสักนิด แบบเสียดายการปูเชิงลึกลับชั้นดีมาทั้งเรื่อง แต่ถ้าคิดถึงความเข้าใจของคุณผู้ชมรุ่นเยาว์ทั้งหลาย ที่ไม่ได้เห็นโลกมามากมายเท่าเราแล้ว ก็พอจะให้อภัยกันได้นะครับ แถมยังแอบทิ้งเชื้อบางอย่างเหลือไว้ ให้เราเอาไปตีความเชื่อมโยงกันต่อตามสบายอีกด้วย
.
อันนา และ มาร์นี คือจิ๊กซอว์ มันจะถูกต่อสมบูรณ์ได้
เมื่อมีชิ้นสุดท้ายที่มอบให้จากอีกฝ่าย
.
นอกจากความเพลิดเพลินแล้ว สองตัวละครหลักของ When Marnie Was There ยังเป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน หากชีวิตของ อันนา และ มาร์นี คือจิ๊กซอว์ มันก็ถูกต่อสมบูรณ์ได้เมื่อมีชิ้นสุดท้ายที่มอบให้จากอีกฝ่าย สิ่งที่คนหนึ่งขาด อีกคนหนึ่งจะมีเสมอ ดังประโยคสั้นๆ ที่สรุปความหมายของบทสนนายาวยืด ในฉากความลับส่วนตั๊วส่วนตัว ทำนองว่า “ฉันอยากเป็นเธอจัง” ในเจตนาที่แตกต่างกัน และทั้งสองฝั่งก็ทำให้มันเป็นจริงได้ในที่สุด อีกทั้งยังสะท้อนภาพครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ วิถีชีวิต และสำรวจสภาพจิตใจของ คนเว้าแหว่งที่ต้องการส่วนเติมเต็มได้เป็นอย่างดี เท่าที่การ์ตูนเรื่องหนึ่งจะพอทำได้
ว่ากันตามตรง หนังเรื่องนี้อาจยังไม่ได้สมบูรณ์พร้อม และยังมีรอยโหว่ ไปจนถึงรกรุงรังอยู่มิใช่น้อยๆ อีกทั้งยังไม่ได้มุ่งเน้นวิพากย์สังคมชัดเจนเท่าใดนัก (ดังที่ Spirited Away เคยทำไว้) แต่ก็ดังที่ อันนา ตะโกนกู่ร้อง และพยายามทุกวิถีทางจะได้พบหน้าเด็กลึกลับ มาร์นี นั่นแหละครับ ถึงจะเป็นห้วงสั้นๆ ชั่วระยะบำบัดหอบหืด เหมือนการดูหนังแค่ชั่วโมงกว่าๆ แม้สุดท้ายจะต้องจากลาแล้วกลับสู่ความเป็นจริง แต่เราก็อยากบอกความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้ พอๆกับที่ อันนา อยากบอก มาร์นี ว่า…
ยินดีที่ได้พบเธอนะ When Marnie Was There
เรื่องนี้ให้ 8.5 / 10 ครับ
Lecter.
—————————————-
The post When Marnie Was There : ยินดีที่ได้พบเธอ appeared first on Mthai Movie.